ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดอลล์แข็งค่าหลังโอเปกพลัสจะลดผลิตน้ำมัน

สิงคโปร์--3 เม.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 5.3% สู่ 79.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเช้าวันจันทร์ และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะยานขึ้น 5.18% สู่ 84.03 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันจันทร์ หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ประกาศในวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.ว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปอีกราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงสิ้นปีนี้ โดยประกาศใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงรวมกันราว 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 3.7% ของอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัสเคยตกลงกันในเดือนต.ค. 2022 ว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนพ.ย. 2022 จนถึงสิ้นปี 2023 ส่วนนายอเล็กซานเดอร์ โนแวค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซียกล่าวในวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.ว่า รัสเซียจะขยายเวลาในการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวันออกไปจนถึงสิ้นปี 2023

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.22% สู่ 133.08 เยนในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนยูโรดิ่งลง 0.34% สู่ 1.0802 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 1 สัปดาห์ที่ 1.0797 ดอลลาร์สหรัฐในระหว่างวัน ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินปรับขึ้น 0.28% สู่ 102.88 ในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนีดอลลาร์พยายามจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ 103 ให้ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ปอนด์ร่วงลง 0.27% สู่ 1.2295 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 1 สัปดาห์ที่ 1.22825 ดอลลาร์สหรัฐในระหว่างวัน ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลง 0.18% สู่ 0.6675 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์รูดลง 0.45% สู่ 0.6227 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ในขณะที่บิทคอยน์ดิ่งลง 1.5% สู่ 27,764 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • นักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดว่า มีโอกาสราว 37.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และมีโอกาสราว 62.6% ที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. โดยโอกาสดังกล่าวปรับขึ้นจากระดับ 48% ที่เคยคาดไว้ในวันศุกร์ อย่างไรก็ดี นักลงทุนคาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงหลังจากนั้น โดยอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงราว 0.40% ก่อนสิ้นปีนี้

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปี ซึ่งมักจะปรับตัวตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย ปรับขึ้นราว 0.027% สู่ 4.089% ในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับขึ้นราว 0.021% สู่ 3.511% ในช่วงเช้าวันนี้

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันศุกร์ว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งครองสัดส่วนสูงกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ปรับขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 2.0% ในเดือนม.ค. ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งถือเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และอยู่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.4% สำหรับเดือนก.พ. ในขณะที่ดัชนี PCE แบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.0% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนม.ค. ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบรายปี หลังจากทะยานขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค.--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Connectez-vous ou créez un compte gratuit à vie pour lire ces nouvelles

Plus de nouvelles provenant de Reuters

Plus de nouvelles