ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดัชนีดอลล์เคลื่อนตัวใกล้จุดสูงสุด 7 สัปดาห์
โตเกียว--10 ต.ค.--รอยเตอร์
ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินเคลื่อนตัวอยู่ใกล้จุดสูงสุดรอบ 7 สัปดาห์ในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย ในขณะที่นักลงทุนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้ความอดทนในการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงต่อไป และนักลงทุนก็รอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐที่จะได้รับการรายงานออกมาในเวลา 19.30 น.ตามเวลาไทยในวันนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า รายงานดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐทรงตัวอยู่ที่ 3.2% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ทั้งนี้ นายไคล์ ร็อดดา นักวิเคราะห์ตลาดการเงินของบริษัทแคปิตัลดอทคอมระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนก.ย.ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ทางด้านรายงานการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำวันที่ 17-18 ก.ย.ที่ได้รับการเปิดเผยออกมาในวันพุธ ก็ช่วยยืนยันว่าเฟดมุ่งความสนใจไปยังการรักษาความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐด้วย และนายร็อดดากล่าวเสริมว่า "ดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง โดยได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น ๆ" นอกจากนี้ เขายังระบุอีกด้วยว่า "ถ้าหากสหรัฐรายงานดัชนี CPI ที่สูงเกินคาด ตัวเลขดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้เฟดไม่มั่นใจในแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ"
ดอลลาร์/เยนอ่อนค่าลง 0.09% สู่ 149.16 เยนในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 149.36 เยนในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. ส่วนยูโร/ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.04% สู่ 1.0943 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 2 เดือนที่ 1.0936 ดอลลาร์ในวันพุธ ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินขยับลง 0.03% สู่ 102.85 ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 102.93 ในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. ทั้งนี้ ปอนด์ขยับลง 0.01% สู่ 1.3074 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น 0.19% สู่ 0.6731 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่เพิ่งดิ่งลงแตะ 0.6708 ดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์พุ่งขึ้น 0.45% สู่ 0.6090 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากรูดลงแตะ 0.6053 ดอลลาร์สหรัฐในวันพุธ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.
แมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโกกล่าวในช่วงเย็นวันพุธว่า เธอไม่มีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น แต่เธอมีความกังวลเรื่องการสร้างความเสียหายต่อตลาดแรงงาน
นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า เฟดไม่มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. โดยโอกาสที่ 0% ดังกล่าวปรับลดลงจากระดับ 31% ที่เคยคาดไว้ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่แล้ว และนักลงทุนก็คาดการณ์ในตอนนี้ว่ามีโอกาส 85.4% ที่เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. และมีโอกาส 14.6% ที่เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.75-5.00% ตามเดิมในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 6-7 พ.ย. โดยนักลงทุนยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันราว 0.47% ในช่วงต่อไปในปีนี้ หลังจากที่เคยคาดการณ์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวมกันมากกว่า 0.70% ในช่วงต่อไปในปีนี้
ธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 17-18 ก.ย.ออกมาในวันพุธ และรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของเฟดสนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการเริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนั้น แต่ผู้กำหนดนโยบายหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนี้ไม่ได้เป็นการกำหนดภาระผูกพันให้กับเฟดสำหรับจังหวะความเร็วในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% "มองว่าการปรับจุดยืนนโยบายการเงินแบบนี้จะส่งผลให้จุดยืนดังกล่าวเริ่มมีความสอดคล้องมากยิ่งขึ้นกับเครื่องบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในระยะนี้" ในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายคนอื่น ๆ ตั้งข้อสังเกตว่า มีเหตุผลสนับสนุนให้เฟดสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหลังจากนั้นก็มีแต่ช่วยสนับสนุนให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงินลง อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมการประชุม "บางราย" สนับสนุนให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ในเดือนก.ย. และผู้เข้าร่วมการประชุมรายอื่น ๆ บางรายก็ส่งสัญญาณว่า พวกเขาสามารถสนับสนุนให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.25% ได้ด้วยเช่นกัน--จบ--
Eikon source text
(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)
((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;